เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 9. เมตตสูตร
[7] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[8] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน1 ชั้นล่าง2 และชั้นกลาง3
[9] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ4นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[10] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ5
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ6
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ

เชิงอรรถ :
1 ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
2 ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
3 ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
4 สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. 9/224)
5 ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. 9/225) และดู สํ.ส. (แปล)
15/171/228
6 ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.
9/225)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :22 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 1. ยมกวรรค 1. จักขุปาลเถรวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน
1. จักขุปาลเถรวัตถุ
เรื่องพระจักขุบาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[1] ธรรมทั้งหลาย1 มีใจ2เป็นหัวหน้า3
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งหลาย มีความหมาย 4 ประการ คือ (1) คุณธรรม (2) เทศนาธรรม (3) ปริยัติธรรม
(4) นิสสัตตธรรม (สภาวะที่มิใช่สัตว์) หรือนิชชีวธรรม (สภาวะที่มิใช่ชีวะ) ในที่นี้หมายถึงนิสสัตตธรรม
ได้แก่ อรูปขันธ์ 3 คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ (ขุ.ธ.อ. 1/20-21) และดู ขุ.ชา. (แปล)
27/386/537 ประกอบ
2 ใจ หมายถึงจิต 4 ระดับ คือ จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ และ
จิตระดับโลกุตตรภูมิ แต่ในที่นี้หมายเอาจิตที่มีโทมนัสประกอบด้วยปฏิฆะ เดิมทีเดียว จิตนั้นเป็นภวังคจิต
คือเป็นจิตที่ผ่องใส(ปภัสสรจิต) แต่เมื่อถูกเจตสิกธรรมฝ่ายชั่วกล่าวคืออุปกิเสสธรรมจรมากระทบเข้า ก็กลาย
เป็นจิตเศร้าหมองที่เรียกว่า ใจชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและวาจา (ขุ.ธ.อ. 1/20)
3 เป็นหัวหน้า หมายถึงเป็นหัวหน้าของเจตสิกธรรม กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. 1/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :23 }